Next Blog.

1   2   3   4   5   6   7   8   9   10   11   12   13   14   15   16   17

Link Web.

skywebboard   sms.web   Goobonk

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ดร. เฉลิม อยู่บำรุง

ข้อมูลทั่วไป


ร้อยตำรวจเอก ดร. เฉลิม อยู่บำรุง อดีตประธาน ส.ส. พรรคเพื่อไทย ส.ส. สัดส่วน กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตหัวหน้าพรรคมวลชน และ ส.ส.ฝั่งธนบุรีหลายสมัย


เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2490 จบการศึกษาทั้งระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยรับราชการตำรวจมีตำแหน่งเป็นสารวัตรกองปราบฯ ในการทำงานการเมืองเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และขณะที่กำกับดูแลหน่วยงานแห่งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม มีชื่อเรียกสั้น ๆ จากสื่อมวลชนว่า "เหลิม" หรือ "เหลิมดาวเทียม" เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันดีในแวดวงสื่อมวลชนถึงการควบคุมการนำเสนอข่าวด้วยตนเองของ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งในบางครั้งถึงกับเข้าไปสั่งการในห้องตัดต่อเอง จนคนในช่อง 9 เรียกว่า "บรรณาธิการเฉลิม"[1]

สมรสกับ นางลำเนา อยู่บำรุง ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชน มีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน เป็นชายล้วนคือ นายอาจหาญ, นายวันเฉลิม และนายดวงเฉลิม อยู่บำรุง (ภายหลังนายวันเฉลิม และนายดวงเฉลิม เปลี่ยนชื่อเป็น นายวัน และนายดวง ตามลำดับ) ลูกชายทั้งสามก็ถูกเรียกกันทั่วไปว่า "ลูกเหลิม"

มีน้องชายที่เล่นการเมืองท้องถิ่น เป็น ส.ก.หลายสมัยคือ นายนวรัตน์ อยู่บำรุง ส.ก.เขตหนองแขม

ร.ต.อ.เฉลิม เป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองที่โดดเด่นด้านการพูด และลีลาการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ที่สามารถโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังเชื่อได้ และหลายครั้งมีการใช้คำพูดที่ฟังดูรุนแรง ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม เคยกล่าวถึงตัวเองไว้ว่า "ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม"

ในช่วงที่ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯได้ให้ฉายาว่า "เป็ดเหลิม" ซึ่งเปรียบเทียบว่า ร.ต.อ.เฉลิมกับเป็ดทำหลายอย่างได้ แต่ไม่สามารถทำได้ดีสักอย่าง เช่น บินได้ แต่ไม่สามารถบินได้อย่างยาวนานและดีเท่ากับนก หรือเรียกว่า "ไอ้ปื้ด" ซึ่งเป็นบุคคลนิรนามที่มาจากคำกล่าวอ้างของเฉลิมเพื่อปัดคนทำผิดแทนลูกของเขา

บทบาททางการเมืองในช่วงแรก

ร.ต.อ.เฉลิม เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองด้วยการเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ได้ก่อตั้ง พรรคมวลชน และดำรงตำแหน่ง เป็น หัวหน้าพรรค โดยมีฐานเสียงสำคัญในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะ เขตภาษีเจริญ และ เขตบางบอน ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม เป็น ส.ส. ผูกขาดในพื้นที่ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เคยไม่ได้รับเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว คือในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2535 ครั้งที่ 1

ร.ต.อ.เฉลิม เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อสมท. โดยบทบาทของ ร.ต.อ.เฉลิม ในขณะนั้นถูกมองว่า เข้าไปแทรกแซง การเสนอข่าวของสื่อมวลชน และมีปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มทหาร จนถูกนำมาเป็นเหตุผลประการหนึ่ง ในการทำ รัฐประหาร ปี พ.ศ. 2534 ของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

ภายหลังการรัฐประหารดังกล่าว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และถูกยึดทรัพย์จำนวน 32 ล้านบาท [2] และต้องขอลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ โดยเดินทางไปพำนักอยู่ที่ ประเทศสวีเดน และประเทศเดนมาร์ก

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ร.ต.อ.ได้กลับเข้าประเทศไทย และได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา และต่อมา ในปี พ.ศ. 2540 ตัดสินใจยุบ พรรคมวลชน รวมเข้ากับ พรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังจากนั้นบทบาททางการเมืองของ ร.ต.อ.เฉลิม ก็เงียบหายไปเป็นเวลานาน

บทบาทการเป็นฝ่ายค้านของ ร.ต.อ.เฉลิม ในพรรคชาติไทย มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการอภิปลายไม่ไว้วางใจ สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย เรื่อง สปก.4-01 ซึ่งส่งผลให้ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องตัดสินใจยุบสภาก่อนที่จะมีการลงมติไม่ไว้วางใจ และเหตุการณ์ดังกล่าวยังถูกนำมาใช้อ้างอิงเพื่อโจมตีทางการเมืองต่อนายสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ดูบทความหลักที่ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 57 ของไทย

ภายหลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในสภาถึง 233 ที่นั่ง ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในการจัดคณะรัฐมนตรีนายสมัครได้ให้ ร.ต.อ.เฉลิมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[3] ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่าเป็นตำแหน่งที่ตนต้องการที่จะดำรงตำแหน่งมากที่สุดด้วย

แต่ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551 นายสมัครได้ตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี โดยในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยนายสมัครได้ให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ดำรงตำแหน่งแทน ร.ต.อ.เฉลิม[4]

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ดูบทความหลักที่ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 58 ของไทย

ต่อมานายสมัครได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้ง โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในการจัดคณะรัฐมนตรีนายสมชายได้เลือกให้ ร.ต.อ.เฉลิมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข[5]

แต่ต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้ยุบพรรคพลังประชาชน,พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค จึงส่งผลให้นายสมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย

ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ภายหลังจากมีการยุบพรรค ร.ต.อ.เฉลิมได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้คณะผู้บริหารพรรคพิจารณาแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิมเป็นประธาน ส.ส. เพื่อควบคุมการทำงานในสภาของ ส.ส.ภายในพรรคต่อไป โดย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่าพรรคได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ประธาน ส.ส. เพื่อทำหน้าที่หัวหน้าพรรคในสภาผู้แทนราษฎร[6] พรรคเพื่อไทยตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม เป็นประธาน ส.ส. เพราะยังไม่สามารถหาผู้นำฝ่ายค้านได้ กล่าวกันว่าไม่มีใครที่กล้าเป็นผู้นำฝ่ายค้านเลย เพราะเกรงว่าถ้ามีคดียุบพรรคอีกครั้ง จะติดข่ายเว้นวรรคทางการเมืองห้าปี เนื่องจากผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นกรรมการบริหารพรรคนั่นเอง

ร.ต.อ.เฉลิมเป็นผู้นำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย ร.ต.อ.เฉลิมเป็นผู้ขึ้นเปิดอภิปรายเป็นคนแรก โดยอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในกรณีการปกปิด ซ่อนเร้น ไม่เปิดเผยการรับเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ในการรายงานงบดุลต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเส้นทางของเงินดังกล่าวเป็นเงินที่รับจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) แล้วทำนิติกรรมอำพรางผ่านบริษัท เมซไซอะ ซึ่งถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง[7]

ในปลายปี พ.ศ. 2552 สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ให้ฉายา ร.ต.อ.เฉลิมว่า "ดาวดับ" อันเนื่องจากวาทะที่แก้ตัวให้กับการกระทำที่ส่อทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม" ซึ่งได้กลายเป็นวาทะประจำปีด้วย[8]

ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2553 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้มีวิวาทะกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยด้วยกันเอง ถึงขนาดตำหนิออกมาต่อหน้าสื่อมวลชนหลายต่อหลายครั้ง อันเนื่องจากเรื่องการที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่เห็นแตกต่างกันและมีความเห็นเกี่ยวกับทิศทางการบริหารจัดการพรรคที่แตกต่างกัน